เที่ยวทั่วไทย...
วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554
ข้อปฏิบัติการขับรถท่องเที่ยว ในเส้นทางวิบาก
ข้อปฏิบัติการขับรถท่องเที่ยว ในเส้นทางวิบาก (อสท.)
1. จัดตำแหน่งการนั่งขับให้มั่นคง ปรับตำแหน่งกระจกมองข้าง กระจกมองหลังให้มองเห็นชัดเจน ปรับระดับพวงมาลัย ที่นั่งให้พอดีกับคันเร่ง เบรก คลัตซ์ เพื่อการควบคุมรถได้มีประสิทธิภาพสูงสุด จะได้ขับรถเที่ยวได้อย่างสนุก
2. รัดเข็มขัดนิรภัยเสมอ ไม่ว่าสภาพเส้นทางเป็นอย่างไร
3. การออกตัว การเร่ง การเบรก และการบังคับเลี้ยว จะต้องเป็นไปอย่างประสานสัมพันธ์กัน โดยค่อย ๆ เหยียบคันเร่งเพื่อป้องกันล้อหมุนฟรี เพราะการเร่งแรงและเพิ่มรอบของเครื่องยนต์เร็วเกินไป จะทำให้ล้อหมุนฟรีจมลงในทราย โคลน หรือเกิดการลื่นไถล เสียสมดุลของรถได้ การค่อย ๆ กดคันเร่งและรักษารอบของเครื่องยนต์ให้คงที่ จะทำให้รถสามารถข้ามผ่านอุปสรรคไปได้ ยิ่งหากเป็นการเข้าเกียร์สโลว์ การเหยียบคันเร่งจะตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีพลัง การเร่งเท่าที่จำเป็นและค่อย ๆ เร่งเพิ่มอย่างนุ่มนวลเมื่อจำเป็นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และเช่นเดียวกันการผ่อนคันเร่งอย่างนุ่มนวล ก็จะทำให้การขับเป็นไปอย่างนุ่มนวลด้วย
4. ในการขับรถท่องเที่ยว การเบรกก็จะต้องเป็นไปอย่างนุ่มนวลโดยพยายามควบคุมความเร็ว ชะลอความเร็วก่อนถึงสิ่งกีดขวาง เพื่อหลีกเลี่ยงการเบรกอย่างกะทันหัน รุนแรง การเบรกรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการล้อล็อก หรือลื่นไถลเสียการทรงตัวของรถได้
5. เมื่อขึ้นและลงเขาให้ใช้เกียร์ต่ำ เพื่อเพิ่มพลังเครื่องยนต์และใช้เกียร์ต่ำช่วยชะลอควบคุมความเร็วของรถในขณะลงเขาร่วมกับการใช้เบรก
6. การขับรถผ่านเส้นทางที่มีก้อนหินหรือเนินดินขวาง พยายาม ขับให้ล้อปีนข้ามก้อนหินช้า ๆ โดยใช้เกียร์ต่ำ เพื่อช่วยไม่ให้ช่วงล่างกระทบกระแทกหิน ควรหลีกเลี่ยงการขับคร่อมก้อนหิน เพราะอาจทำให้ช่วงล่างกระแทกกับก้อนหินเสียหายได้
7. พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นทรายหรือโคลน หากจำเป็นต้องลุยผ่านให้ใช้เกียร์ต่ำ รักษารอบให้สม่ำเสมอพยายามอย่าเร่งเครื่องบินเกินความจำเป็นเพราะอาจทำให้ ล้อฟรีจมโคลนลึกลงไปจนยากแก่การแก้ไข
8. การขับเคลื่อนผ่านทางที่เป็นร่องลึกรูปตัว V ให้ ขับคร่อมไปบนร่อง แม้ขอบของร่องจะกว้างกว่าสองข้างของช่วงล้อรถ ให้ค่อย ๆ คร่อมและเคลื่อนตรงไปข้างหน้าช้า ๆ รักษารถให้ตรง หากรถเกิดอาการเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งให้หยุด อย่าพยายามเคลื่อนไปข้างหน้า เพราะอาจทำให้รถของท่านลื่นไถลตะแคงข้างได้ ให้ค่อย ๆ หันพวงมาลัยไปด้านที่เอียง แล้วเร่งเครื่องเบา ๆ ให้รถกลับทรงตัวอย่างเดิม แล้วจึงค่อย ๆ เคลื่อนต่อไปข้างหน้าดังเดิม
9. หากเวลาขับรถท่องเที่ยว ปีน ข้ามหิน หรือสะพานไม้แคบที่มีเส้นทางเฉพาะ ควรมีคนลงไปทำหน้าที่บอกทาง โดยคนบอกทางต้องมีคนเดียวผู้ขับต้องเปิดกระจกฟังการบอกทาง นั่งในตำแหน่งขับอย่างมั่นคง มองตรงไปข้างหน้าอย่าใช้วิธียื่นหัวออกมานอกตัวรถ มองสัญญาณมือจากคนบอกทางและค่อย ๆ ควบคุมรถไปตามนั้นจนข้ามผ่านอุปสรรค
10. หากไม่แน่ใจต่อเส้นทางข้างหน้า ให้หยุดรถ เดินลงมาสำรวจเส้นทางให้มั่นใจแล้วจึงขับผ่าน
11. ในการขับรถท่องเที่ยวข้ามลำธาร หาก มองไม่เห็นพื้นดินใต้น้ำ หรือไม่ทราบระดับความลึก ให้ลงมาใช้ไม้วัดระดับความลึกดูก่อน หากระดับน้ำสูงกว่าท่อกรองอากาศของเครื่องยนต์ไม่ควรขับลุยข้ามไป เพราะเครื่องยนต์จะดับกลางน้ำได้ ขับข้ามน้ำช้า ๆ ด้วยรอบเครื่องยนต์ที่สม่ำเสมอ
12. หากเดินทางร่วมกันหลายคันควรทิ้งระยะห่างกันให้มากพอสำหรับความปลอดภัย เพราะกรวดหรือหินจากยางคันหน้าอาจดีดใส่กระจกหน้ารถแตกได้ และเมื่อขึ้นเนินที่สูงชัน ควรจอดรถให้รถคันหน้าขึ้นพ้นเสียก่อน เพราะรถคันหน้าอาจขึ้นไม่ไหวลื่นไถลลงมาได้
ที่มา : http://travel.kapook.com/view14074.html
ข้อปฏิบัติและข้อควรระวังในการเที่ยวป่าหน้าฝน
ข้อปฏิบัติและข้อควรระวังในการเที่ยวป่าหน้าฝน (อสท.)
เรื่อง : วินิจ รังผึ้ง
การ เดินทางท่องเที่ยวสัมผัสธรรมาติ ป่าเขา น้ำตกในฤดูฝน หรือในสภาพอากาศปรวนแปร เอาแน่เอานอนไม่ได้นั้น หากมีการวางแผนการเดินทาง และวิธีปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยที่ดี ก็จะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของท่านเป็นไปอย่างมีความสุข และปลอดภัยยิ่งขึ้น
ข้อปฏิบัติดังกล่าวทำได้ไม่ยาก หากจะลองนำเอาประสบการณ์การเดินทางของนักเดินทางรุ่นก่อน ๆ นำไปใช้กันดู...
1. ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง ด้วยการเข้าไปดูข้อมูลที่เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th ซึ่งมีรายละเอียดสภาวะอากาศประจำวัน พยากรณ์อากาศในรอบ 3 วัน และในรอบสัปดาห์ แบ่งเป็นภาค กลุ่มจังหวัด ให้ตรวจสอบกันก่อนออกเดินทาง
2. ตรวจสอบสภาพดินฟ้าอากาศจากภาพถ่ายดาวเทียม ง่าย ๆ ด้วยการเข้าไปที่เว็บไซต์ www.google.com แล้วพิมพ์คำว่า ภาพถ่ายดาวเทียม ทางเว็บไซต์จะค้นหาเว็บไซต์ที่แสดงภาพถ่ายดาวเทียมขึ้นมาให้ท่าน ซึ่งภาพถ่ายดาวเทียมจะแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย แสดงภาพกลุ่มเมฆและกลุ่มพายุ ให้เห็นว่าปกคลุมอยู่บริเวณจังหวัดใด มีปริมาณมากน้อยเพียงใด โดยภาพถ่ายดาวเทียมจะเปลี่ยนแปลงทันสมัยทุกวัน ทำให้พอจะประเมินได้ว่า สภาพอากาศบริเวณจังหวัดที่จะเดินทางไปเป็นเช่นใด การเช็คภาพถ่ายดาวเทียมก่อนเดินทางไปนั้น จะเป็นประโยชน์มากกับช่างภาพ เพราะจะสามารถรู้ได้ว่าท้องฟ้าจะสดใสมีแสงแดดหรือไม่ หากบริเวณที่จะเดินทางไปมีกลุ่มเมฆมากหรือมีพายุที่กำลังจะเคลื่อนผ่าน ก็อาจจะเลื่อนการเดินทางออกไป หรือมีการเตรียมตัวและใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้น
3. การปฏิบัติตนขณะลงเล่นน้ำตก หรือกิจกรรมอื่น ๆ ในสายน้ำ เช่น ล่องแก่ง ให้สังเกตระดับน้ำในลำธารและสีของสายน้ำ หากน้ำมีระดับเพิ่มขึ้น หรือสีของน้ำเปลี่ยนจากน้ำใสเป็นสีแดงขึ้น ขุ่นขึ้น กระแสน้ำไหลเชี่ยวแรงขึ้น ให้รีบขึ้นจากสายน้ำทันที หรือหากล่องแก่งก็ให้พักเรือเข้าฝั่ง หยุดพักดูจนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัย ระดับน้ำไม่สูงเพิ่มขึ้น จึงค่อยเดินทางต่อ
4. พยายามสังเกตและฟังเสียงที่ดังผิดปรกติ เพราะน้ำป่าที่เชี่ยวไหลหลากล้นลงมาจากบนภูเขานั้น จะก่อให้เกิดเสียงดังขึ้นกว่าเสียงของสายน้ำปรกติ ซึ่งช่วงระยะเวลาสั้น ๆ นั้น อาจเป็นช่วงนาทีชีวิตที่จะสามารถหนีรอดจากน้ำป่าที่บ่าไหลได้ หรือเตรียมตัวมองทางหนีทีไล่ไว้ให้พร้อมเผื่อเกิดวิกฤติขึ้นมาจะได้หนีขึ้น ที่สูงได้ทัน
5. การลงเล่นน้ำตกควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ลงเล่นน้ำในบริเวณเขตหวงห้าม หรือปีนป่ายขึ้นไปบนพื้นที่อันตราย และควรปฏิบัติตามคำแนะนำหรือคำเตือนของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสถานที่อย่าง เคร่งครัด
6. หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปตั้งแคมป์ในป่า ไม่ ควรตั้งแคมป์ใกล้ชิดริมลำธารมากเกินไป เพราะในตอนกลางคืนขณะพักผ่อนนอนหลับอาจจะมีน้ำป่าบ่าไหลลงมาก่อให้เกิด อันตรายขึ้นได้ ควรเลือกทำเลตั้งแคมป์ที่ปลอดภัยจากระดับน้ำ หรือพ้นจากหุบเขาที่เคยเป็นร่องน้ำหรือช่องทางน้ำไหล
7. หากอยู่ท่ามกลางฝนตก หรือฟ้าคะนองในธรรมชาติ ควรปิดโทรศัพท์มือถือหรือวิทยุ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าฝ่า หากไม่จำเป็นแล้ว การทำกิจกรรมกลางแจ้งไม่ควรสวมเครื่องประดับที่ทำจากโลหะติดตัวไป
8. ในสายน้ำหรือตามโขดหินริมลำธารที่ส่วนใหญ่เปียกน้ำอยู่ตลอดเวลานั้น ค่อน ข้างจะลื่นควรระมัดระวังในการเดิน และควรใช้รองเท้าที่กระชับ พื้นรองเท้าควรเป็นยางและมีดอกยาง ซึ่งจะเกาะพื้นหินพื้นดินได้ดีกว่ารองเท้าพื้นแข็ง
9. ไม่ควรอยู่ในชุดเสื้อผ้าที่เปียก หรืออยู่ในน้ำที่หนาวเย็นเป็นเวลานานเกินไป เพราะร่างกายจะค่อย ๆ สูญเสียความร้อน และอาจจะเป็นตะคริวจมน้ำ หรือเป็นไข้ได้
ที่มา : http://travel.kapook.com/view15417.html
เช็กรถก่อนเดินทาง
เช็กรถก่อนเดินทาง (momypedia)
โดย: แพนด้าทะเล
แน่ใจหรือว่ารถคุณพร้อมแล้ว?
ตอนนี้เป็นช่วง "ปลายฝนต้นหนาว" ฝนคงจะตกน้อยลงแล้ว อากาศก็ไม่ร้อนมากนัก ประกอบกับเป็นช่วงปลายปี ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลให้เราควรจะใช้วันพักร้อนที่เหลือของปีนี้ให้หมดไป ด้วยการไปเที่ยวต่างจังหวัด...เย้!!!
ถึงแม้ว่าเราจะผู้ชายของเราคอยดูแลเราอยู่ ทั้งเรื่องรถและเส้นทาง แต่ถ้าเรารู้เรื่องบ้างก็ยิ่งดีใช่ไหมคะ หรือถ้าเราเป็นคนขับรถเองก็ยิ่งจำเป็นต้องรู้ค่ะ
น่าจะเช็กความเรียบร้อยเหล่านี้ก่อนเดินทางอย่างน้อยสัก 1 วัน เพราะหากขาดเหลืออะไรยังแก้ไขได้ทัน หรือถ้าไม่ทันจริงๆ ค่อยดูตอนเช้าก่อนไปก็ยังดีเนอะ
ต้องเช็กอะไรบ้าง
1. อย่างแรกก็เช็คระดับน้ำในหม้อน้ำก่อนเลย ต้องให้น้ำอยู่ในระดับเต็มเปี่ยมนะคะ
2. แล้วก็เช็คลมยาง ทั้ง 4 ล้อที่ตัวรถและยางอะไหล่ (ถ้าจะให้ดีก็ซื้อที่วัดลมยางมาติดไว้สักอัน) แต่ต้องวัดตอนที่ยางมันเย็นนะ ส่วนต้องเติมลมเท่าไหร่ก็ดูตัวเลขที่คู่มือหรือข้อมูลที่แปะข้างประตูนั่น แหละค่ะ แต่ถ้าเอาของติดไปลั้นลาเยอะก็ต้องบวกค่าเพิ่มไปอีกนิดหน่อย
3. ต่อจากนั้นก็เช็กน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก
4. ดูน้ำฉีดกระจกสำหรับที่ปัดน้ำฝนให้เต็ม
5. ดูระดับน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ด้วย
6. น่าจะมีแผนที่แบบละเอียดๆ ติดรถกันเหนียวสักชุดก็ดีค่ะ
7. อันสุดท้ายก็เช็กหัวใจตัวเอง...ว่าพร้อมจะลุยหรือยัง
ที่มา : http://travel.kapook.com/view16473.html
ขับรถท่องเที่ยวหน้าหนาว...อย่างปลอดภัย
ปภ.แนะขับรถท่องเที่ยวหน้าหนาวอย่างปลอดภัย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณ ภัย แนะขับรถเที่ยวเขาช่วงหน้าหนาวอย่างปลอดภัย เลือกใช้เกียร์ให้เหมาะสมกับระดับความเร็ว ความชัน และความโค้งของเขา สังเกตป้ายบอกทาง ป้ายเตือนริมข้างทาง จะได้วางแผนการขับขี่อย่างเหมาะสม ไม่ขับรถเร็ว ไม่เหยียบเบรค หรือหยุดรถกะทันหัน ห้ามปล่อยเกียร์ว่างขณะลงจากเขา กรณีหมอกลงจัด ให้เปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า เดือนธันวาคมมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับตรงกับช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวชมธรรมชาติของขุนเขา อีกทั้งเส้นทางบนภูเขามักคดเคี้ยว เป็นทางโค้งลาดชัน อีกทั้งมีหมอกปกคลุมเส้นทาง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีขับรถท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวอย่างปลอดภัย ดังนี้
การใช้เกียร์
เลือกใช้เกียร์ให้เหมาะสมกับระดับความเร็ว ความชัน และความโค้งของเขา หากเป็นเกียร์ธรรมดา ให้ใช้เกียร์ต่ำ (เกียร์ 1 – 2) ส่วนเกียร์อัตโนมัติให้ใช้เกียร์ 2 ขณะขับขึ้นลงเขา และใช้เกียร์ D เมื่อวิ่งบนทางราบ
การขับรถ
หมั่นสังเกตป้ายบอกทาง ป้ายเตือนริมข้างทาง จะได้วางแผนการขับขี่และใช้ความเร็วอย่างเหมาะสม ห้ามขับรถด้วยความเร็วสูง ห้ามเหยียบเบรคหรือหยุดรถกะทันหัน เพราะจะทำให้รถเสียการทรงตัวไถลลงข้างทางได้ ห้ามปล่อยเกียร์ว่างขณะขับรถลงจากเขา จะทำให้รถไหลอย่างรวดเร็ว และหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถหยุดรถได้ทัน รวมถึงจอดพักรถเป็นระยะ เพื่อป้องกันเบรคไหม้หรือเบรคแตก ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง
การเข้าโค้ง
เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ จับพวงมาลัยรถให้มั่น ชะลอความเร็วก่อนเข้าโค้ง พร้อมบีบแตรหรือให้สัญญาณไฟเตือนรถที่วิ่งสวนทางมา พยายามขับรถในช่องทางของตนเอง ห้ามแซงบริเวณทางโค้ง ไม่ปลดเกียร์ว่าง ไม่เหยียบคลัทซ์ และเบรคกะทันหัน เพราะจะทำให้เกิดแรงเหวี่ยง จนรถเสียหลักหลุดออกนอกเส้นทาง
กรณีหมอกลงจัด
เปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก ขับรถให้ช้ากว่าปกติ ไม่ขับชิดคันหน้า ไม่แซง ไม่เปลี่ยนช่องทางหรือหยุดรถในระยะกระชั้นชิด ไม่เปิดใช้สัญญาณไฟฉุกเฉิน หากมองไม่เห็นเส้นทาง ให้จอดรถพ้นเส้นทางเดินรถหรือบริเวณที่ปลอดภัย รอจนหมอกเบาบางลงค่อยขับรถต่อ กรณีมีละอองฝ้าเกาะตามกระจกรถ ให้เปิดที่ปัดน้ำฝน หรือใช้ผ้าแห้งเช็ด ปรับลดอุณหภูมิภายในรถ เปิดกระจกหน้าต่างรถไว้เล็กน้อย จะช่วยไล่ละอองน้ำที่เกาะตามกระจกรถ
ที่มา : http://travel.kapook.com/view19610.html
วิธีป้องกันอันตราย จากการเล่นน้ำตกและล่องแก่ง
น้ำตก
ปภ. แนะวิธีป้องกันอันตรายจากการเล่นน้ำตกและล่องแก่ง (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)
ใน ช่วงฤดูฝน นอกจากนักท่องเที่ยวจะนิยมเดินทางไปเที่ยวป่าเพื่อชมความงามของผืนป่าแล้ว กิจกรรมอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมเช่นกัน ได้แก่ การเล่นน้ำตก และ การล่องแก่ง เพราะเป็นช่วงที่ผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด และมีปริมาณน้ำมากเพียงพอที่จะทำกิจกรรมดังกล่าวได้
แต่ขณะเดียวกันช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม นักท่องเที่ยวจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเล่นน้ำตกและล่องแก่ง ช่วงฤดูฝนเป็นพิเศษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ขอแนะวิธีเล่นน้ำตกและล่องแก่งอย่างปลอดภัย ดังนี้...
การเล่นน้ำตก
ก่อนเล่นน้ำตก
ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว เช่น เส้นทางการเดินทาง สภาพน้ำตก โดยเลือกเที่ยวน้ำตกที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยและมีระบบรักษา ความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน รวมถึงสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ โดยสามารถสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวและกรมอุตุนิยมวิทยา อีกทั้งปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด
ขณะเล่นน้ำตก
- ไม่ลงเล่นน้ำในเขตหวงห้ามอย่างเด็ดขาด เพราะอาจได้รับอันตรายจากน้ำวนหรือกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก
- ไม่ปีนป่ายขึ้นไปตามหน้าผา น้ำตกหรือบริเวณที่เปียกลื่น
- ไม่เล่นหยอกล้อบริเวณพื้นที่อันตราย เช่น แอ่งน้ำวน น้ำลึกหรือที่ลาดชันก่อนถึงผาน้ำตก เพราะอาจพลัดตกจนได้รับบาดเจ็บ
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกน้ำหรืออยู่ในน้ำที่เย็นนานเกินไป เพราะอาจเป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิต
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหากพลัดตกลงน้ำจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งขวดหรือแก้วน้ำที่แตก จะเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวรายอื่นด้วย
- หมั่นสังเกตลักษณะของสายน้ำในน้ำตก หากพบว่าระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำเปลี่ยนสี และมีเสียงดังผิดปกติ ให้รีบขึ้นจากน้ำและไปยังพื้นที่ปลอดภัยทันที เพราะอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากขึ้นได้
ล่องแก่ง
การล่องแก่ง
ก่อนล่องแก่ง
ควรตรวจสอบข้อมูลสถานที่ล่องแก่งจากเจ้าหน้าที่อุทยาน และสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อจะได้วางแผนการล่องแก่งได้อย่างเหมาะสม ศึกษาข้อปฏิบัติในการเล่นและข้อตกลงต่างๆ อย่างละเอียด เช่น การประกันภัย เครื่องมือและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ตลอดจนศึกษาลักษณะการไหลของน้ำ ซึ่งมี 2 ประเภท ได้แก่ แบบแก่ง น้ำจะไหลเร็วและแรง กับแบบแอ่ง น้ำจะไหลช้าแต่มีความลึก และศึกษาเส้นทางลำน้ำและกระแสน้ำ อีกทั้งฝึกซ้อมการพายเรือ การถ่อเรือและการนั่งทรงตัวในเรือให้ชำนาญ สวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าแบบลำลอง เช่น กางเกงขาสั้น เนื้อผ้าไม่อุ้มน้ำ แห้งง่าย รองเท้าที่มีสายรัดข้อเท้า และสวมหมวกนิรภัยและเสื้อชูชีพให้เรียบร้อยก่อนลงเรือ
ขณะล่องแก่ง
- ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
- หลีกเลี่ยงการล่องแก่งในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลแรงและลึก เนื่องจากหินใต้น้ำและผิวน้ำจะทำให้เกิดคลื่นน้อยใหญ่ และม้วนเป็นวงอย่างแรงจนทำให้เรือล่มได้
- ไม่เล่นล่องแก่งบริเวณที่มีน้ำไหลตกจากที่สูงและไม่พายเรือเข้าไปบริเวณใต้ ต้นไม้ที่มีลักษณะรากลอย เพราะจะยิ่งเพิ่มอันตรายให้กับผู้เล่นมากขึ้น
- กรณีที่พลัดตกจากเรือ ให้ว่ายน้ำเข้าหาเรือหรือฝั่งโดยเร็วที่สุด ถ้าว่ายน้ำไม่เป็น ให้พยายามลอยตัวเหนือน้ำในท่านอนหงาย ยกขาทั้งสองข้างขึ้น เสื้อชูชีพจะช่วยพยุงตัวให้ลอยขึ้นจากน้ำ หากกระแสน้ำไหลรุนแรง ให้ใช้ไม้พายยันเพื่อชะลอความเร็ว และป้องกันการกระแทกกับแก่งหินบริเวณนั้น เพื่อให้การเล่นน้ำตกและล่องแก่งเป็นไปอย่างปลอดภัย
- นักท่องเที่ยวควรเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแหล่งท่อง เที่ยวและสภาพอากาศ ลักษณะของสายน้ำอย่างละเอียด เพื่อจะได้วางแผนการท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม หากพบสิ่งผิดปกติของกระแสน้ำให้รีบขึ้นจากน้ำและไปยังพื้นที่ปลอดภัยในทันที
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากการท่องเทียวน้ำตกและล่องแก่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ตลอดเวลา
ซื้อแพ็กเกจเที่ยว...แบบไม่โดนหลอก
ซื้อแพ็กเกจเที่ยว...แบบไม่โดนหลอก (Lisa)
เข้า หน้าร้อนวางแผนเกี่ยวกับสักหนึ่งยก แต่เลือกแพ็กเกจแบบไหนดีที่จะคุ้มค่าเงินในกระเป๋ามากที่สุด และไม่ต้องเศร้าเพราะถูกทัวร์เอาเปรียบ
แพ็กเกจกับเงินในกระเป๋า
แค่เลือกขนดาแพ็กเกจให้เหมาะสมกับตัวเองเท่านั้นยังไม่พอ เพราะอย่าลืมรวมค่า Pocket Money ที่คุณจะต้องเตรียมไว้ไปช้อปปิ้งด้วย ที่สำคัญควรนำเงินติดตัวไปบ้างเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย กันไว้เป็นเงินฉุกเฉินเผื่อตกรถตกเรือจะได้มีเงินตรงนี้ไว้เป็นตัวช่วย
รายจ่ายแฝง
แพ็กเกจส่วนใหญ่มักแฝงด้วยค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และภาษีหัก ณ ที่จ่ายอีก 3% และบางแพ็กเกจไม่รวมค่าบัตรหรือค่าธรรมเนียมในการผ่านด่านต่าง ๆ ดังนั้น บวกลบคูณหารดี ๆ ถามรายละเอียดและหาข้อมูลให้แน่นอนก่อนที่จะซื้อแพ็กเกจ
โฆษณาเกินจริง
บอกว่าจะพาไปตรงนั้นตรงนี้ กินอาหารพื้นเมืองชั้นดีแหล่งช้อปปิ้งงามเลิศ แต่พอถึงเวลาจริง ๆ ไม่ได้ไปอย่างในรูปที่โฆษณา คุณสามารถคุยกับเขาได้ตรง ๆ เลยว่าแล้วจะจ่ายเงินคืนให้คุณเท่าไร อย่าลืมทวง ซึ่งมักจะได้เงินคืนหลังจากที่เรากลับมาแล้ว เขาไม่อยากเสียชื่อหรอก...เชื่อสิ
ระวังคำว่า...เทียบเท่า
โรงแรมห้าดาวหรือเทียบเท่า คำคำนี้กำกวมเหลือเกินควรถามว่าถ้าไม่ใช่โรงแรมนี้จะเป็นโรงแรมไหน เราจะได้เข้าไปดูสถานที่ในอินเทอร์เน็ตล่วงหน้า และถ้าไม่ใช่โรงแรมระดับเดียวกันจะทดแทนอย่างไร เช่น บางแห่งจะทดแทนด้วยการเลี้ยงอาหารในภัตตาคารที่ดีกว่าเดิม
เลือกทัวร์มาตรฐาน
ควรเลือกบริษัททัวร์ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง หรือผ่านคำบอกเล่าจากเพื่อน ๆ มาแล้ว เพราะส่วนใหญ่เราต้องสำรองที่นั่งด้วยการโอนเงินล่วงหน้าก่อนครึ่งหนึ่งแล้ว ค่อยจ่ายสมทบเต็มราคาเมื่อถึงวันไป เก็บใบเสร็จโอนเงินไว้ก่อน เพราะหากโดนเชิดเงิน เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันแล้วล่ะก็ จะเซ็งไม่น้อยเชียวล่ะ
ที่มา : http://travel.kapook.com/view6441.html
เรื่องไม่เล็ก เคล็ดไม่ลับสำหรับซัมเมอร์
เรื่องไม่เล็ก-เคล็ดไม่ลับสำหรับ "เมษาฮาวาย" (คู่หูเดินทาง)
จะ(บรร)เจิด ไปมั้ยคุณขา..ถ้าซัมเมอร์นี้สะระแหน่จะเป็นฝ่ายเอ่ยปากชวน "หนุ่มกิมจิ" ที่รู้จักกันมาสักพักใน Facebook ไปละเสียดฟองเบียร์ เอ้ย...ฟองคลื่นที่ริมขายหาดขาวนวลยวนตาบนเกาะเสม็ดโน่น อ๊าย...พูดแล้วก็จั๊กกะเดียมหัวใจ ไม่เอาล่ะ ขอเก็บพ่อหนุ่มกินจิคนนั้นเอาไว้เฉพาะในยามฝันก็พอ เดี๋ยวพ่อช๊ะมีตัวแสบแอบจับได้ สะระแหน่จะอ่วมอรทัยกลายเป็นผักชีเน่าไปเสียก่อน เอ้า...เรามาพูดถึงวิธีเตรียมตัวเตรียมใจไปเที่ยวทะเลในหน้าร้อนนี้กันดี กว่า
สำหรับคนขี้เมา(เรือ) มีวิธีรับมือ ดังนี้ …
มองหา...หยูกยาประเภทยาหอม หรือยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) มาเตรียมกินไว้ก่อนเดินทาง
มอง หา...ทำเลที่นั่งบริเวณริมหน้าต่างให้ลมพัดเย็น ๆ มองเห็นวิวไกล ๆ ความเพลิดพลินดังว่าจะช่วยให้ท่านลืมเลือนอาการไม่สบายได้ชั่วขณะ
มอง หา...ที่งีบสบาย ๆ เท่าที่จะหาได้สักตื่น เมื่อเริ่มรู้สึกว่าอาการเมาเรือหรือคลื่นเหียนกำลังโบกมือทักทาย และควรจิบน้ำทีละน้อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ บางครั้งยังอาจช่วยบรรเทาอาการอยากอาเจียนได้
เปลวแดดแผดเผา
ความ ร้อนของแสงแดดนอกจากจะทำให้ผิวพรรณคล้ำ หรือรู้สึกปวดแสบร้อนจากการถูกแผดเผาแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย อาทิ เป็นลมแดด, ตะคริว, อ่อนเพลียจากความร้อน และความร้อนสูงรุนแรง (heat stroke) เป็นต้น วิธีป้องกันอันตรายจากแสงแดดคือ
หลีกเลี่ยงการตากแดดจัดจ้านตลอดทั้งวัน เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอากาศเป็นลมแดดและผิวหนังแสบไหม้ได้
ควร ทาครีมกันแดดที่มีตัวยากันแดดอย่างน้อย SPF 15 ขึ้นไป และเป็นชนิดกนน้ำ โดยทาให้ทั่วทั้งใบหน้า คอ หลัง ขา โดยเฉพาะบริเวณที่ไวต่อแสง หากมีอาการเป็นลมแดดหรือหมดสติ ให้รีบพาผู้ป่วยเข้าไปที่ร่ม ที่อากาศถ่ายเทสะดวก คลายชุดที่ใส่ให้หลวม และทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวจนอุณหภูมิลดต่ำลง
หาก ต้องตากแดดเป็นเวลานานๆ ร่างกายอาจสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ควรหลีกเลี่ยงการลงสระว่ายน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำหรืออาบน้ำเย็นทันที เพราะนั่นอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อเกร็งหรือเป็นตะคริวได้
เป็นตะคริว
แม้คนจำนวนไม่น้อยจะว่ายน้ำเป็นหรือว่ายน้ำเก่ง แต่อุบัติเหตุและอันตรายก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เพื่อความปลอดภัยเรามีคำแนะนำ ดังนี้ …
ก่อนว่ายน้ำควรทำการบริหารร่างกาย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อน ประมาณ 10-15 นาที
หากเผชิญกับอาการเป็นตะคริว ให้พยายามประคองตัวให้ขึ้นมาบนฝั่ง จากนั้นรีบหาน้ำเกลือมาดื่ม (น้ำ 1 ลิตร ผสมเกลือ 1 ช้อนชา)
ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น ๆ หรือมีกระเป๋าน้ำร้อนห่อด้วยผ้าขนหนู วางประคบบริเวณกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว
พิษแมงกะพรุน
อาจทำให้มีอาการผื่นคัน หรือทำให้ปวดแสบปวดร้อนคล้ายอาการน้ำร้อนลวกได้ การรักษาคือเมื่อสัมผัสโดนผิวหนังให้รีบชะล้างด้วยน้ำทันที เพื่อล้างเอาพิษออก และทาด้วยยาประเภทสเตียรอยด์ครีม หรือลองมองหา “ผักบุ้งทะเล” ที่ชอบขึ้นตามริมชายหาดมาตำ และนำมาทาบริเวณที่เป็นแผลแต่ไม่ต้องขยี้ จะช่วยถอนพิษได้ เนื่องจากผักบุ้งทะเลมีสรรพคุณเป็นยา ลดการอักเสบจากพิษของแมงกะพรุน แก้แผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกได้
เมษาฮาวายนี้สะระแหน่ขอให้ชาว "คู่หูเดินทาง"เที่ยวทะเลกันด้วย ความสนุกสุโขสโมสรนะคะ เค็ม ๆ รวย ๆ ด้วยนิ อิอิ
ที่มา : http://travel.kapook.com/view12361.html
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)