วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ข้อควรปฏิบัติในการดำน้ำ




ข้อควรปฎิบัติในการดำน้ำ (อสท)

"การดำน้ำ" ถือเป็นกิจกรรมทางน้ำที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่ง เพราะเสมือนได้เปิดโลกกว้างไปยลโฉมความงดงามใต้ท้องทะเล จึงไม่ต้องแปลกใจหากในปี ๆ หนึ่ง จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปดำน้ำในสถานที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งทะเลไทย ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งอันดามันหรืออ่าวไทย ก็จัดได้ว่าสวยงามจนติดอันดับโลกหลายที่ แต่กิจกรรมการดำน้ำต้องยึดเอาความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะฉะนั้น วันนี้เรามีข้อควรปฎิบัติในการดำน้ำมาบอกกันด้วยค่ะ

1. ความปลอดภัย

ไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการดำน้ำตื้นและดำน้ำลึก

รับประทานอาหารในระดับที่เหมาะสม ไม่ควรรับประทานแบบอิ่มจัดก่อนการดำน้ำตื้นและดำน้ำลึก

ให้ว่ายน้ำใกล้ท่าเทียบเรือ ใกล้เรือที่จอดอยู่ หรือบริเวณที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่

มีการจัดเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่นักดำน้ำ บริเวณชายฝั่ง บนท่าเทียบเรือ หรือบนเรือ

ควรดำน้ำเป็นคู่ หรือมีเพื่อนดำน้ำด้วย

หาก ประสบปัญหาในขณะดำน้ำ ให้ยกมือข้างหนึ่งข้างโบกไปมาเหนือศรีษะ และให้ฟังข้อแนะนำจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างระมัดระวัง ในขณะที่ได้รับความช่วยเหลือ

ไม่ดำน้ำในบริเวณเข้า-ออกของเรือ หรือบริเวณจุดจอดเรือ

ขณะ ไปดำน้ำ สิ่งที่อันตรายที่สุดคือ โดนเรือชน หรือถูกใบพัดเรือฟัน นักดำน้ำจึงควรป้องกันระวังตัวเองด้วยการไม่ว่ายเข้าใกล้เรือ ขณะเรือวิ่งเป็นอันขาด หากว่าเรือวิ่งเข้าให้เงยหน้ามองเรือ ผู้ขับเรือจะเห็นได้ชัดเจน

ควรดำน้ำในช่วงเวลาและสถานที่ซึ่งผู้ควบคุมกำหนดให้ หลีกเลี่ยงช่วงที่มีคลื่น หรือกระแสน้ำแรง

การดำน้ำลึกแบบสกูบาต้องมีบัตรดำน้ำ ควรปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด และอย่าเรียนด้วยตัวเอง

คำ เตือนของเจ้าหน้าที่ ผู้ดูแล และลูกเรือ เป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ดำน้ำจึงควรรับผิดชอบตัวเองและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิต




2. การเตรียมอุปกรณ์ในการดำน้ำลึก

ใช้ตะกั่วถ่วงน้ำหนักให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันการจมลงไปกระแทกแนวปะการัง เราสามารถควบคุมการลอยตัวได้ โดยการใช้ตะกั่วน้ำหนักที่สมดุลกับร่างกาย และควบคุมลมหายใจ

ควรตรวจให้แน่ใจว่าอุปกรณ์มีขนาดพอดีกับตัวเอง เพราะหากอยู่ในน้ำจะปรับหรือเปลี่ยนได้ยาก

ควรสวมชูชีพขณะดำน้ำไว้ตลอดเวลา

ระหว่างอยู่ใต้น้ำหรือผิวน้ำ ควรตรวจสอบอุปกรณ์อยู่เสมอว่ายังอยู่กับตัวตลอดเวลา และใช้งานได้ดี

อุปกรณ์การถ่ายภาพอาจมีผลต่อการดำน้ำในเรื่องการลอยตัว และเคลื่อนที่ในน้ำ อย่าวางอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือของแปลกปลอมลงบนปะการังเมื่อต้องการถ่ายภาพ

เก็บอุปกรณ์ที่เป็นสายระโยงระยางให้เรียบร้อย สายอากาศสำรอง หรือสายวัดอากาศมักลากไปเกี่ยวกับปะการังอยู่เสมอ

รัดเข็มขัดตะกั่วให้เรียบร้อย เพราะถ้าหากเข็มขัดตะกั่วตกลงไป จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ปะการังได้

3. การเตรียมอุปกรณ์ดำน้ำตื้น

หน้ากาก (Mask) ช่วยไม่ให้น้ำสัมผัสกับหน้าและจมูกของคุณ หน้ากากทำจากยางซิลิโคนนิ่ม ๆ มีสายรัดหน้ากากที่สามารถปรับแต่งให้กระชับได้ กระจกเป็นชนิดที่ทนต่อแรงดันของน้ำ และในบางรุ่นจะมีวาล์วระบายน้ำ เวลาที่น้ำเข้าหน้ากาก

เสื้อชูชีพ ต้องรัดสายทุกเส้นถูกต้องและกระชับ โดยเฉพาะสายรัดเป้า ปัญหาที่พบเมื่อไม่รัดให้ถูกต้อง เวลาลงน้ำชูชีพจะลอยขึ้นมาดันคอหรือท่อหายใจ และที่สำคัญเสื้อชูชีพควรมีนกหวีด เพื่อไว้ใช้ในกรณีขอความช่วยเหลือเมื่ออยู่ห่างจากท่าเรือ หรือเกิดกรณีฉุกเฉิน

ท่อหายใจ (Snorkel) ช่วยให้คุณก้มหน้ากับผิวน้ำได้เป็นเวลานาน โดยไม่ต้องเงยหน้าขึ้นมาหายใจ ท่อหายใจมีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบธรรมดาและชนิดที่มีวาล์วระบายน้ำ เพื่อความสะดวกในการระบายน้ำออก เมื่อมีน้ำเข้าท่อหายใจ

ตีบกบ (Fins) ช่วยทำให้เคลื่อนไหวสะดวกเวลาอยู่ในน้ำ เพราะในน้ำเราใช้เท้าเคลื่อนไหวมากกว่ามือ เมื่อใส่ตีนกบแล้วจะเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น ซึ่งตีนกบมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบเปิดส้น (Open-heel fins) ซึ่งต้องสวมบูตก่อนแล้วจึงสวมตีนกบ และแบบปิดส้น (Full-heel fins) ซึ่งสามารถสวมตีนกบได้เลย เหมือนสวมรองเท้าปกติ ในการดำน้ำตื้นนิยมใช้แบบปิดส้นมากกว่า


ที่มา : http://travel.kapook.com/view27491.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น